สถาปัตยกรรมระดับโลก...สถานีรถไฟใต้ดินมอสโค รัสเซีย


สถาปัตยกรรมระดับโลก…สถานีรถไฟใต้ดินมอสโค รัสเซีย

สถานีรถไฟใต้ดินกรุงมอสโค (Moscow Metro Stations) ถือได้ว่าเป็นระบบขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดินที่ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังถือได้ว่ารถไฟฟ้าใต้ดินมอสโคเป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีความสวยงามมากที่สุดในโลก ด้วยความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมการตกแต่งภายในสถานี ความสวยงามของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงแรกสุดที่สตาลิน ขึ้นมาเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต

ด้วยนโยบายที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก และการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ จึงทำให้กรุงมอสโค ซึ่งมีฐานะเป็นเมือง ฃหลวงและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาประเทศนั้นขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้อัตราการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรจากทั่วประเทศเข้ามาสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางการผลิต อุตสาหกรรมหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไปสู่สังคมกรรมาชีพอย่างเต็มขั้น

สถานีที่สร้างขึ้นในระยะเริ่มแรกนั้นถือเป็นสถานีที่มีโครงสร้างต้นแบบของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมอสโคทั้งหมด ลักษณะทางสถาปัตยกรรมนั้นจะเน้นที่ความสวยงามแต่เรียบง่าย เน้นการตกแต่งด้วยโทนสีที่ทำให้สถานีมีความโปร่งโล่งสบายตา ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้โดยสารไม่รู้สึกว่ากำลังอยู่ในสถานที่ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินให้มีความแตกต่างไปจากระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่ปรากฏในประเทศทุนนิยมตะวันตกอื่นๆ พัฒนาการต่อมาของการตกแต่งภายในสถานีคือการนำรูปปั้นสำริดขนาดเท่าตัวบุคคลจริง มาประดับตกแต่งภายใน รวมทั้งการประดับลวดลายแบบโมเสก ได้ถูกนำมาเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่งภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

พัฒนาการขั้นสูงสุดของสถาปัตยกรรมภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมอสโค ก็คือกลุ่มสถานีถูกสร้างขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง สถาปัตยกรรมที่ปรากฏภายในกลุ่มสถานีนี้คือการสะท้อนถึงเหตุการณ์การรวมชาติโซเวียตและเป็นการนำรูปแบบของสถาปัตยกรรมจากอารยธรรมโบราณที่แสดงถึงความเจริญทางศิลปะวิทยาการมาเป็นสื่อสะท้อนถึงชัยชนะและความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียต

ลักษณะของสถาปัตยกรรมที่นำมาตกแต่งภายในสถานีนั้นเป็นลักษณะของโมนูเมนทัล อาร์ต (monumental art) คือลักษณะของงานศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณความดีของวีรบุรุษและการสรรเสริญถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ซึ่งจะสื่อออกมาในรูปของงานปั้น รูปหล่อ ภาพสลักนูนต่ำ ภาพวาดประดับลวดลายแบบโมเสกดังเช่นภาพประดับผนังที่ สถานีคอมซาโมลสกายา ( Komsomolskaya )

บริเวณผนังสองฝั่งก่อนเข้าสู่ทางเดินเชื่อมเปลี่ยนสายการเดินรถของสถานีคอมซาโมลสกายานั้นมีแผงภาพขนาดใหญ่ตกแต่งในลักษณะลวดลายสีแบบมาจอลิกา คือ แผ่นกระเบื้องเคลือบหลากสีนำมาเรียงต่อกันเป็นภาพ ภายในภาพนั้นแสดงเหตุการณ์ในขณะที่คนงานกำลังช่วยกันก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินกันอย่างแข็งขันภายในอุโมงค์ และภาพโมเสกประดับเพดานภายในสถานีมายาคอฟสกายา (Mayakovskaya) จำนวน 35 ภาพ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จเริ่มแรกของการนำภาพลวดลายโมเสกมาใช้ในการประดับตกแต่ง สถานีรถไฟใต้ดินมอสโค ซึ่งเป็นรูปแบบของศิลปะในยุคคลาสสิค

นอกจากนี้สิ่งที่สร้างความโดดเด่นให้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมอสโคมากที่สุดสิ่งหนึ่งคือ รูปปั้น ซึ่งถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสอดคล้องกับแบบแผนศิลปะและวัฒนธรรมโซเวียตทีเรียกว่า โซเชียลลิสต์ – เรียลลิสม (Socialist – Realism ) กล่าวคือเป็นการยกย่องวีรบุรุษและตัวบุคคลที่มีความสำคัญต่อเหตุการณ์ในอดีตที่เป็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและง่ายต่อการสื่อความหมายแห่งปฎิวัติสู่ประชาชน

ดังเช่นรูปปั้นสำริดที่ปรากฏอยู่ในสถานีโพลชิดท์ เรปวาลูซียา (Ploshchad Revolyutsi) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของสถานีนี้ รูปปั้นที่นำมาประดับตกแต่งภายในสถานีนี้ถูกสร้างขึ้น มาให้มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับบุคคลจริง ซึ่งมีความสมจริงและมีจุดเด่นอยู่ที่การเล่าเรื่องราวที่ประติดประต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางความรู้สึกและความคิด ผ่านอิริยาบถของรูปปั้นเหล่านั้น

รูปแบบทางศิลปะที่เป็นจุดเด่นของสถานีรถไฟใต้ดินมอสโคในยุคสตาลินก็คือ เป็นการฟื้นฟูศิลปะในยุคคลาสสิคแบบอารายธรรมกรีก-โรมันโบราณมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพ สังคมและวัฒนธรรมของโซเวียต พื้นฐานสังคมโซเวียตคือสังคมเกษตรกรรมในลักษณะของนารวม ซึ่งเป็นรูปแบบของระบบสังคมนิยมที่ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดังนั้นลักษณะรายละเอียดในงานศิลปะจึงสื่อให้เห็นภาพของลวดลายของผลิตผลทางการเกษตร เช่น ฝักข้าว เมล็ดพันธุ์พืช มัดฟอนของรวงข้าว และพันธุ์ไม้หนาม เป็นต้น

ศิลปะแบบคลาสสลิคถูกเลือกมาเพื่อเป็นรูปแบบทางศิลปะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตอบสนองความต้องการในสุนทรียภาพของชนชั้นแรงงาน เดิมทีนั้นการตกแต่งด้วยศิลปะแบบคลาสสลิคนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวยสำหรับประดับตกแต่งพระราชวังของกษัตริย์หรือคฤหาสน์ของเศรษฐีและขุนนางผู้ที่ตั้งตนว่าเป็นชนชั้นสูงในสังคม แต่ในสังคมโซเวียตนั้นไม่มีคำว่าชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลาง

สถานีในสายการเดินรถคัลเซียวายา ถือได้ว่าเป็นสายการเดินรถที่มีกลุ่มสถานีที่สวยงามมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วยสถานีจำนวน 12 สถานี และทั้ง 12 สถานีนี้ถูกสร้างขึ้นในยุค หลังจากการได้รับชัยชนะของสหภาพโซเวียตจากสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นกลุ่มสถานีจึงเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดเรื่องราวของชัยชนะที่เกิดจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียว กันของประชาชนโซเวียด จุดเด่นของสถาปัตยกรรมการตกแต่งภายนาถานีนี้คือการนำศิลปะโบราณมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด ประกอบกับการเล่าเรื่องราวอย่างประติดประต่อกันถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ ซึ่งล้วนแต่เป็นเนื้อหาสาระที่สะท้อนถึงความเป็นสังคมนิยม

สถานีเคียฟสกายา (Kievskaya) เป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีความโดดเด่นมากที่สุด จุดเด่นของสถานีเคียฟสกายา คือ ภาพโมเสกประดับผนังเสารับน้ำหนัก จำนวน 18 ภาพล้อมรอบด้วยรูปสลักขนาดเล็กเป็นลวดลายเมล็ดพันธุ์พืช ดอกไม้ตูม และใบไม้ ฉาบเป็นสีทองเป็นภาพลำดับเหตุการณ์ในอดีตตั้งแต่ช่วงอาณาจักรรัสเซีย จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ในยุค สหภาพโซเวียต เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรวมชาติของรัสเซียกับยูเครน ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามอันยิ่งใหญ่แห่งการปกป้องมาตุภูมิ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1941 และสิ้นสุดในปี 1945 ที่สหภาพโซเวียตทถูกรุกรานโดยกองทัพนาร์ซีของเยอรมัน และโซเวียตได้รวบรวมกำลังพลจากประชาชน จากทุกกลุ่มประเทศภายในสหภาพโซเวียตเพื่อต่อสู้กับกองทัพนาร์ซี จึงกล่าวได้ว่าเป็นการนำศิลปะในยุคลาสสลิคมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายของชัยชนะที่ได้รับจากสงครามและแสดงความยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการรวมเป็นรัฐหนึ่งเดียวคือสหภาพโซเวียต

สถานี Park Kultury สายสีแดง  สร้างเสร็จเป็นสถานีแรก เปิดใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 มีความลึก 10.5 เมตร  ตอนที่เริ่มสร้างเมื่อปี 1933 เป็นสถานีสุดท้ายของสายสีแดง (Sokolnicheskaya Line) รูปแบบของสถานีนี้ เป็นการตกแต่งโดยใช้แรงบันดาลใจแบบกรีกโบราณ ประกอบด้วยเสา 22 ต้น แต่งด้วยหินอ่อนไครเมีย แต่เดิมเมื่อแรกเปิดสถานี มีชื่อว่า Tsentralnyi Park Kultury i Otdykha imeni Gorkovo (The Maxim Gorky Central Park of Culture and Leisure) จนมาเปลี่ยนให้สั้นลงเมื่อโอลิมปิกในกรุงมอสโกในปี 1980

สถานี Elektrozavodskaya เปิดใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1944  มีความลึก 31.5 เมตร ตั้งชื่อนี้เนื่องจากมีโรงงานหลอดไฟฟ้าอยู่ใกล้ๆ จึงทำให้สถาปนิกได้ไอเดียในการออกแบบเพดานโดยการใส่โคมไฟวงกลมเป็นหกแถว (มีทั้งหมด 318 โคม) ประกอบกับหินอ่อนบนเสาสี่เหลี่ยม ส่วนด้านนอกบริเวณชานชาลาจะเป็นลูกกรงทองตกแต่งด้วยรูปค้อนและเคียว

สถานี Ploschad Revolyutsii เปิดใช้เมื่อ 13 มีนาคม ค.ศ. 1938 โดยการออกแบบของ Dushkin สถานีนี้ตกแต่งด้วยรูปปั้นหินอ่อนอาร์เมเนียจำนวน 76 ชิ้นที่ประดับตลอดแนวทางเดินที่ชานชาลา บางชิ้นจะมีคนมาลูบจนมันวับโดยเชื่อว่าจะทำให้โชคดี

สถานี Park Pobedy เปิดใช้เมื่อ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 เป็นสถานีที่ลึกที่สุดคือลึก 73.6 เมตร และมีบันไดเลื่อนที่ยาวที่สุดของรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโค คือ 126  เมตร  สถานีนี้มีการตกแต่งด้วยโมเสกเกี่ยวกับประวัติสงคราม Patriotic War ตัวโถงใหญ่มีเสาและผนังที่ประดับด้วยหินอ่อนสีขาวและสีน้ำตาล

สถานี Komsomolskaya สายสีน้ำตาล มีความลึก 37 เมตร เชื่อมต่อกับสถานีชื่อเดียวกันแต่เป็นสายสีแดง  ออกแบบโดย Aleksey Shchusev และได้ร้บรางวัล New York World’s Fair ที่โถงกลางประดับด้วยโคมไฟขนาดใหญ่ บนเพดานเรียงร้อยเรื่องราวด้วยการนำหินสีต่างๆ มาประดับอย่างสวยงาม เป็นสถานีที่ไกด์มักจะพาลูกทัวร์มาเยี่ยมชม โดยเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟถึง 3 แห่ง คือ Leningradsky Rail Terminal, Yaroslavsky Rail Terminal และ Kazansky Rail Terminal จึงทำให้สถานีนี้เป็นสถานีที่มีคนใช้บริการมากที่สุดสถานีหนึ่ง  โดยสถาปนิกสถานีนี้ А.Shchusev และ P.Korin ได้รับรางวัล State Prize of the USSR ในปี 1951

สถานี Belorusskaya เปิดใช้ในปี 1952 เพียงช่วงสั้นๆ และเปิดบริการแบบสมบูรณ์เมื่อ 14 มีนาคม ค.ศ. 1954 มีความลึก 42.5 เมตร เชื่อมต่อกับสายสีเขียว และสถานีรถไฟ Belorussky ที่ใช้เดินทางไปยัง Belarus, Kalliningrad, Lithuania, Poland, Germany, Czech Republic และ Latvia ประดับด้วยภาพโมเสกบนเพดานดูประณีต และลายกระเบื้องปูพื้นเป็นลายเหมือนพรมของชาว Belorussian

สถานี Novoslobodskaya เปิดใช้เมื่อ 30 มกราคม ค.ศ. 1952 มีความลึก 40 เมตร โดดเด่นด้วยงานสเตนกราส (กระจกสี) ที่สวยงามของศิลปินชาวลัตเวีย จำนวน 32 บาน แต่ละบานจะล้อมกรอบด้วยทองเหลือง  ที่สุดชานชาลามีหินอ่อนอูรัลสีชมพูและขลิบปั้นทองเหลือง โมเสกเหล่านี้ทำโดย Pavel Korin ในชื่อว่า “Peace Throughout the World”  ได้มีการทำความสะอาดและบูรณะแผงกระจกสี โมเสก โคมระย้า ครั้งใหญ่ในปี 2003

สถานี Prospekt Mira เปิดเมื่อ 30 มกราคม ค.ศ. 1952 มีความลึก 40 เมตร สถานีนี้โดดเด่นด้วยประติมากรรมหินอ่อนที่หัวเสาและโคมไฟ เดิมมีชื่อสถานีว่า  Botanichesky Sad (Ботанический Сад) เพราะอยู่ใกล้กับสวน Botanical Gardens

การสร้างแสงสว่างภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมอสโคนั้น ยังมีนัยทีสื่อถึงความหมายทางการเมือง คือ เพื่อเป็นการตัดความสัมพันธ์ในเชิงเวลาออกไปเมื่อกำลังเดินทางด้วย รถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะภายในสถานีรถไฟนั้นให้แสงสว่างประหนึ่งว่าเป็นเวลากลางวัน เป็นการสื่อถึงความหมายว่า ประชาชนโซเวียตทุกคนอยู่ภายใต้แสงสว่างที่ไม่มีวันดับสลาย และเป็นแสงสว่างแห่งเดียวกัน นั้นคือแสงสว่างแห่งความก้าวหน้าและชัยชนะของระบบสังคมนิยมนั้นเอง ความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมภายในสถานีเปรียบได้กับประชาชน หลากหลายชาติพันธ์แต่มารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกันคือ สหภาพโซเวียต ซึ่งก็เปรียบได้กับเป็นแสงสว่างที่ไม่มีวันดับสลาย

 

รับชมโปรแกรมทัวร์รัสเซีย คลิกที่นี่

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-661-9399 หรือ Line: @EliteHoliday

 

Visitors: 666,331